จารึกนี้มีลักษณะเป็นรอยลึกลงไปจากพื้นผิว สภาพชำรุดเล็กน้อย มีการอ่านและตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ใน SPAFA Digest vol. VII no. 1 (1986) และสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันทักษิณศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ซึ่งอ่าน-แปลโดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๗ มีการอ่านจารึกนี้อีกครั้งโดย Prof. Dr. Ravindra Vasishtha จาก มหาวิทยาลัย Delhi ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม และ อ. ชัยณรงค์ กลิ่นน้อย จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้อมูลเกี่ยวกับจารึกรวมทั้งคำอ่าน-คำแปลในครั้งล่าสุดนี้ปรากฏใน วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับ สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ของ อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ ซึ่งเป็นการศึกษาความหมายและลักษณะทางประติมานวิทยา เพื่อให้ทราบหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยเพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตราประทับ ที่พบในเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กับเมืองโบราณอื่นๆ ตราประทับที่พบมีทั้งที่ปรากฏตัวอักษรและเป็นรูปภาพต่างๆ โดยแบ่งเป็นตราประทับ (seals) และตรา (sealings) ตราประทับรุ่นแรกๆ ที่พบทางภาคใต้นี้ ศ. ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้อธิบายไว้ว่า การใช้ตราประทับเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารในระดับสถาบันต่างๆ ในสมัยทวารวดี ก็เช่นเดียวกับการใช้ระบบเหรียญกษาปณ์ คือ ชาวอินเดียในสมัยอินโด-โรมัน (พุทธศตวรรษที่ ๖-๙) ได้นำตราประทับของอินเดีย (แบบที่ชาวกรีก-ชาวโรมันและชาวเปอร์เชียนิยมใช้) มาใช้เป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน